top of page

รู้ทันโรค / เรื่องน่ารู้

ห่างไกลจากโรคลมแดด

ข้อแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคลมแดด  ได้แก่ 

            1.ให้หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด พยายามอยู่ในที่ร่มโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 
            2.ให้ดื่มน้ำมากๆ 
            3.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง 
            4.หากร้อนจัดแล้วเหงื่อไม่ออกให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว เพื่อระบายความร้อนในตัวออกมา และเป็นการลดความร้อนออกจากร่างกาย 
            5.หากมีอาการของโรคลมแดด คืออาการกระหายน้ำ ตัวร้อนแต่ไม่มีเหงื่อออก หายใจถี่ ปากคอแห้งและอาจวิงเวียนศีรษะ ขอให้รีบไปพบแพทย์ 

        โรคลมแดด เป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกิน อาจจะเกิดขึ้นในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงก็ได้ จัดเป็นความผิดปกติที่มีความรุนแรงมากที่สุด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ระบบประสาทส่วนกลาง การทำงานของตับและไต รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิต 17 - 70 เปอร์เซ็นต์
                
       ในการป้องกันอันตรายในช่วงที่สภาพอากาศร้อน ที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ โดยควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หรือ 2 ลิตรต่อวัน หากทำงานกลางแดดควรสลับมาทำงานในที่ร่มเป็นครั้งคราว เนื่องจากผู้ที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอจะไม่สามารถปรับตัวให้สู้กับอากาศร้อนได้ เพราะน้ำเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย โดยปกติร่างกายจะพยายามปรับอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ในการสังเกตว่าร่างกายได้รับน้ำเหมาะสมหรือไม่ สามารถสังเกตง่ายๆ จากสีของปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะมีสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ แต่ถ้าปัสสาวะสีเหลืองเข้มและปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าได้รับน้ำไม่เพียงพอ จะต้องดื่มน้ำให้มากๆ 

    

                                                                                                             ที่มา ... กระทรวงสาธารณสุข

bottom of page