top of page

รู้ทันโรค / เรื่องน่ารู้

โรคที่มากับฝน 

ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนหรือเปล่าไม่แน่ใจสำหรับปีนี้ แต่ที่แน่ๆมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในฤดูกาลนี้ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลายชนิด สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว   ทั้งนี้ เพื่อป้องกันโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝนที่อาจเกิดขึ้นได้  โดยมี 5 กลุ่ม รวม 14 โรค ได้แก่


    1.กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ สาเหตุเกิดจากกินอาหารดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคหรือกินอาหารสุกๆ ดิบๆ 


    2.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง ที่พบบ่อยคือ โรคเลปโตสไปโรซิส  หรือโรคไข้ฉี่หนู อาการเด่นคือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อที่บริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง 


    3.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม อาการจะเริ่มจากไข้ ไอ หายใจเร็วหรือหอบเหนื่อย 


    4.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน โรคไข้สมองอักเสบเจอี ( Japanese Encephalitis ) ซึ่งมียุงรำคาญ มักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนาเป็นตัวนำโรค ทั้ง 2 โรคนี้อาการจะเริ่มจากมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน โดยโรคไข้สมองอักเสบนี้อาจทำให้พิการภายหลังได้  


     5.โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา 


            นอกจากนี้ ในช่วงหน้าฝนยังต้องระวังอีก 2 เรื่อง คือ ปัญหาน้ำกัดเท้า ที่เกิดจากเชื้อรา สาเหตุเกิดจากการแช่น้ำสกปรกนานๆ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดง ถ้าเกาจะเป็นแผลมีน้ำเหลืองออก และอันตรายจากสัตว์มีพิษ   เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง อาจหนีน้ำมาหลบอาศัยในบริเวณบ้านได้


 อาการนำเด่นๆ ของโรคติดเชื้อหลักๆ คือ 


              อาการไข้ดังนั้นในช่วงนี้ หากมีไข้สูงและเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกกับโรค เพราะทั้งโรคที่เกิดขึ้นในฤดูฝนสามารถรักษาหายขาดได้ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง    ยาลดไข้ที่ต้องระมัดระวังในการใช้ลดอาการไข้ คือยาจำพวกแอสไพริน ห้ามกินอย่างเด็ดขาด เพราะมีอันตรายกับบางโรค ที่สำคัญ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้ฉี่หนู ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายอยู่แล้ว แต่หากได้รับยาแอสไพริน ซึ่งมีสารป้องกันเลือดแข็งตัวเข้าไป จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ทำให้เสียชีวิตได้ง่ายขึ้น  
การป้องกันโรคในฤดูฝน 


            แนะนำให้สวมเสื้อผ้ารักษาร่างกายให้อบอุ่น เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคโดยเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง หนาวเย็น จะทำให้ร่างกายที่มีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนวัยอื่นๆ อยู่แล้ว ต่ำลงไปอีก จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ควรดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้ม รับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม และล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ถ่ายอุจจาระลงส้วม หากในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง และส้วมใช้การไม่ได้ ห้ามถ่ายอุจจาระลงน้ำ ขอให้ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติก แล้วปิดปากถุงให้แน่น    ควรตรวจดูโอ่งน้ำหรือภาชนะเก็บน้ำอื่นให้มีฝาปิดมิดชิด และเปลี่ยนน้ำจานรองขาตู้ แจกันไม้ประดับทุก 7 วัน ปล่อยปลาหางนกยูงในอ่างบัว ทำลายแหล่งที่มีน้ำขัง เช่น   กะลา กระป๋อง ยางรถยนต์เก่า เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งนี้ หลังเดินย่ำน้ำ ลุยน้ำแช่ขังหรือน้ำสกปรก ต้องล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง แล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาด อย่าปล่อยให้อับชื้นเป็นเวลานาน  แนะนำให้ใช้เครื่องป้องกันให้เป็นนิสัย เช่น ใส่รองเท้าบู๊ท หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะที่มีการเลี้ยงสัตว์ และสัมผัสปัสสาวะสัตว์ นอกจากนี้ ให้ดูแลความสะอาดบ้านเรือน ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษ หรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน   กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่  พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  เพียงแค่นี้หน้าฝนที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ คุณก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขแล้ว


ด้วยความห่วงใยในสุขภาพทุกท่าน
งานอาชีวเวชศาสตร์ โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 0-2518-1818  ต่อ 278
( ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจากวาสารสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข)

bottom of page